คอนโดพร้อมอยู่
คอนโดราคาเบาๆ
คอนโดในเมือง
คอนโดเปิดขายใหม่
คอนโดแนวรถไฟฟ้า
Sport lover
คอนโดชายทะเล

สรุปภาพรวมการดำเนินงาน ปี 2565

ปี 2565 เป็นปีที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เผชิญกับความท้าทายจากวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ที่ยาวนานต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ถึงแม้สถานการณ์จะคลี่คลายลงเมื่อเทียบกับปี 2563-2564 แต่การใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมยังคงต้องระมัดระวัง และเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 6.08 สูงสุดในรอบ 24 ปี ทำ ให้ต้นทุนการก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นตามระดับราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จนถึงสิ้นปี 2565 และยังคงยืดเยื้อต่อเนื่องในปี 2566

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้ง บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ที่ต้องมีการปรับแผนธุรกิจและขับเคลื่อนองค์กรให้มีความยืดหยุ่น (Resilience) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนและความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

โดยในปี 2565 LPN ได้มีการบริหารจัดการโครงสร้างต้นทุน (Cost Management) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ต้นทุนในการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ผลจากราคาที่ดิน และราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่ขยับตัวสูงขึ้นในปี 2565 ทั้งการบริหารต้นทุนทางการเงินและการบริหารต้นทุนในการก่อสร้างเพื่อที่จะพัฒนาโครงการได้ในระดับราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับกำลังซื้อที่มีอยู่ในตลาด และยังคงรักษาความสามารถในการทำกำ ไรให้กับบริษัทได้ตามแผนที่วางไว้

ในขณะเดียวกัน LPN ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร นอกจากการจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่โดยแยกธุรกิจบริการ บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) เพื่อให้ขยายธุรกิจบริการออกไปในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจในกลุ่มของ LPN แล้ว ในส่วนของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ LPN ได้มีการจัดโครงสร้างการบริหารในรูปแบบของหน่วยธุรกิจ (Business Unit) โดยแบ่งออกเป็น 4 หน่วยธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ ประกอบด้วย 1) คอนโดมิเนียม 2) บ้านพักอาศัยกลุ่ม Value 3) บ้านพักอาศัยกลุ่ม Premium และ 4) ธุรกิจให้เช่า ทั้งที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์

นอกจากการจัดโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจแล้ว LPN ได้มีการปรับแผนการเปิดตัวโครงการจากเดิม โดยในปี 2565 เปิดตัวโครงการใหม่ทั้งสิ้น 8 โครงการ มูลค่า 10,700 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการอาคารชุดพักอาศัย 5 โครงการ มูลค่า 8,830 ล้านบาท ได้แก่ โครงการลุมพินี เพลส แจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด สเตชั่น, เพลส 168 ปิ่นเกล้า, ลุมพินี วิลล์ จรัญ - ไฟฉาย, วิลล์ 168 บางหว้า และพาร์ค 168 อ่อนนุช 19 และเปิดโครงการบ้านพักอาศัยกลุ่ม Value จำนวน 3 โครงการ มูลค่า 1,870 ล้านบาท ได้แก่ โครงการ เวนู 168 ราชพฤกษ์, เวนู 168 เวสต์เกต และเวนู 168 คูคต สเตชั่น เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อในตลาดที่มีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้นทำ ให้ภาระค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวสูงขึ้นตามระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น

และปี 2565 เป็นปีที่ LPN ได้มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดโดยการสร้างแบรนด์ใหม่ คือ แบรนด์ “168” เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุประมาณ 25-35 ปี (Gen Y) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เริ่มต้นทำงาน (First Jobber) สร้างธุรกิจเอง (Entrepreneur) และกลุ่ม Startups รวมถึงได้มีการปรับตราสัญลักษณ์ขององค์กร (Logo) ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และแนวทางการทำธุรกิจในอนาคต

เป้าหมายยอดขายและรายได้

จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงานและส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทั่วโลก การปรับโครงสร้างธุรกิจ การปรับกลยุทธ์ทางการตลาดและการปรับลดจำนวนการเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2565 LPN ได้มีการปรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจใหม่ แต่ยังสามารถสร้างยอดขายได้จำนวน 10,950 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 23 จากปี 2564 จากการวางแผนการตลาดและกลยุทธ์การขาย เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อทั้งการขายผ่าน online และ offline

สำหรับปี 2565 LPN มีกำไรสุทธิจำนวน 612 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 102 จากปี 2564 มีรายได้รวมจำนวน 10,301 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 4,073 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 84 โดยหลักเพิ่มขึ้นจากรายได้ยอดโอนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีจำนวน 8,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,379 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 108 แบ่งเป็นร้อยละ 45 เป็นการรับรู้รายได้จากโครงการอาคารชุดพักอาศัย ร้อยละ 30 เป็นการรับรู้รายได้จากโครงการอาคารสำนักงาน และอีกร้อยละ 25 เป็นโครงการบ้านพักอาศัย โดย LPN ได้มีการทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ตกแต่งสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการ และด้วยปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจเริ่มกลับมาปกติ อีกทั้งรัฐบาลยังคงมาตรการส่งเสริมอสังหาริมทรัพย์ไว้ตลอดทั้งปี ส่วนรายได้จากธุรกิจให้เช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ด้วยสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ผ่อนคลายดีขึ้น ทำให้การเช่ายังคงเพิ่มขึ้น และรายได้ธุรกิจให้บริการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 23 จากการรับบริหารโครงการ งานบริการทางวิศวกรรม รวมถึงงานบริการอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2565 บริษัทมีโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมส่งมอบ ทั้งสิ้น 7 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 5,715 ล้านบาท เป็นโครงการอาคารชุดพักอาศัย 4 โครงการ โครงการบ้านพักอาศัย 2 โครงการ และโครงการอาคารพาณิชย์ 1 โครงการได้แก่

โครงการอาคารชุดพักอาศัย มูลค่าโครงการรวมประมาณ 4,405 ล้านบาท

  1. ลุมพินี เพลส เตาปูน อินเตอร์เชนจ์
  2. ลุมพินี ซีเล็คเต็ด จรัญ 65 - สิรินธร สเตชั่น
  3. ลุมพินี วิลล์ แจ้งวัฒนะ 10
  4. ลุมพินี วิลล์ แจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด สเตชั่น

โครงการบ้านพักอาศัย มูลค่าโครงการวมประมาณ 1,200 ล้านบาท

  1. เมซอง 168 ลาดพร้าว 101
  2. ลุมพินี ทาวน์วิลล์ สายไหม 18 - พหลโยธิน

และโครงการอาคารพาณิชย์ 1 โครงการ มูลค่า 110 ล้านบาท

  1. อาคารพาณิชย์ ลุมพินี ลาดกระบัง - สุวรรณภูมิ

บริหารจัดการต้นทุนและปรับลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

LPN จัดทำแผนปรับลดค่าใช้จ่าย ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกส่วนของการดำเนินงาน เพิ่มรายได้ประจำ (Recurring Income) โดยการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ เช่น ห้องชุดที่พร้อมขายนำมาปรับเป็นห้องชุดเพื่อเช่า ลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เร่งก่อสร้างโครงการที่มียอดซื้อเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จ และส่งมอบให้กับลูกค้าได้ตามเวลา รวมทั้งบริษัทมีการปรับตัวและทบทวนการทำงานในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับจัดทำแผนเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ด้วยการบริหารจัดการให้มีกระแสเงินสด ให้สามารถรองรับกับการดำเนินธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่ยังคงให้ความสำคัญกับวินัยทางการเงิน รักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินตามนโยบายบริษัทไม่เกิน 1:1 รวมถึงความสมดุลในการลงทุน เพื่อการเติบโตในอนาคต

โดย ณ สิ้นปี 2565 LPN มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เหลือ 0.89 ต่อ 1 ลดลงจาก 0.91:1 และหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ลดลงเหลือ 1.03 ต่อ 1 จาก 1.09 ต่อ 1 ในปี 2564

ดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบต่อสังคม

LPN มีแนวทางในการดูแลพนักงาน เพราะพนักงาน คือ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ด้วยการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลด้านสุขอนามัย การเตรียมมาตรการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาด ของ COVID-19 เริ่มคลี่คลายแล้วก็ตาม แต่ LPN ยังคงมีมาตรการเฝ้าระวัง รวมทั้งดูแลเจ้าของร่วมในชุมชนที่บริษัทรับบริหารโครงการ ด้วยการวางมาตรการต่างๆ ที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม ผ่านบริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่สร้างโอกาสในการทำงานให้กับสตรีและผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส ให้มีโอกาสในการทำงานโดยมีการจ้างงานสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสจำนวน 1,630 คน และมีเป้าหมายที่จะจ้างงานและสร้างโอกาสให้กับสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสไม่น้อยกว่า 2,000 คนในปี 2568

จากการปรับแผนธุรกิจและผลการดำเนินงานในปี 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติจ่ายเงินปันผลประจำปีงวดปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.22 บาท ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.10 บาทไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ส่วนที่เหลือจะจ่ายในอัตราหุ้นละ 0.12 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record Date) ในวันที่ 2 มีนาคม 2566 และกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 18 เมษายน 2566

พิมพ์ชื่อโครงการหรือคำค้นหา...
ไทย English