แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมปี 2567 จะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจร้อยละ 1.8 ในปี 2566 แต่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 ต้องผจญกับความเสี่ยงในหลายมิติ ทั้งด้านอุปสงค์ (Demand) ที่กำลังซื้อชะลอตัวจากภาระหนี้ครัวเรือน เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Products : GDP) ที่สูงในระดับเกินกว่าร้อยละ 90 ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage Loan) ส่งผลให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Approval Rate) อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ในขณะที่ด้านอุปทาน(Supply) ของภาคอสังหาริมทรัพย์เผชิญกับภาระต้นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาที่ดินและราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 มีจำนวนหน่วยและมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง เช่นเดียวกับยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่ลดลงทั้งจำนวนและมูลค่าเมื่อเทียบกับปี 2566
สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้ง บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ที่ปรับแผนธุรกิจและขับเคลื่อนองค์กรให้มีความยืดหยุ่นด้วยสร้างความสมดุลในการทำธุรกิจ (Rebalance for Resilience) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
โดยในปี 2567 LPN ได้บริหารจัดการโครงสร้างต้นทุน (Cost Structure Management) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ต้นทุนในการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากราคาที่ดินและราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงาน รวมถึงต้นทุนทางการเงินอย่างอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ในช่วงไตรมาส 3/2567 หรือลดลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.50 ในช่วงแรกของปีก็ตาม โดยบริษัทชะลอแผนการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในปี 2567 และเร่งการขายสินค้าคงเหลือ เพื่อลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจากการถือครองทรัพย์สิน และ เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน โดยยังสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรให้กับบริษัทได้ตามแผนที่วางไว้
โดยในปี 2567 LPN เปิดตัวโครงการใหม่ทั้งสิ้น 4 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 3,930 ล้านบาทแบ่งเป็นโครงการอาคารชุดพักอาศัย 1 โครงการ มูลค่าประมาณ 810 ล้านบาท ได้แก่ โครงการ เพลส 168 วุฒากาศ และโครงการบ้านพักอาศัย 3 โครงการ มูลค่าประมาณ 3,120 ล้านบาท ได้แก่ โครงการบ้านลุมพินี นิว นครปฐม โครงการบ้าน 365 สุขุมวิท 77 และ โครงการวิลล่า 168 นิว กรุงเทพกรีฑา เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อในตลาดที่มีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2566
เป้าหมายยอดขายและรายได้
ในขณะเดียวกัน LPN ได้มีการปรับประมาณการณ์ยอดขายและรายได้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว โดยในปี 2567 LPN มียอดขายรวมประมาณ 8,460 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายโครงการอาคารชุดพักอาศัยประมาณร้อยละ 78 และโครงการบ้านพักอาศัยประมาณร้อยละ 22 ทำให้ในปี 2567 มีรายได้รวม 8,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 จากปี 2566 ที่มีรายได้รวม 7,444 ล้านบาท โดยรายได้รวมในปี 2567 แบ่งเป็นรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย 5,490 ล้านบาท ซึ่งเติบโตใกล้เคียงกันกับรายได้รวมที่ประมาณร้อยละ 8 หรือเป็นรายได้จากการขายที่ 5,103 ล้านบาทในปี 2566 และยังมีรายได้จากการบริหารจัดการโครงการ การเช่า และธุรกิจบริการ อีกประมาณ 2,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 9 จากปี 2566 โดยมีกำไรสุทธิประมาณ 111 ล้านบาท ลดลงจากกำไรสุทธิประมาณ 353 ล้านบาทในปี 2566 จากการเร่งระบายสินค้าคงเหลือ ทั้งนี้บริษัทมีโครงการที่ขายรอโอน (Backlog) รวมมูลค่าประมาณ 1,719 ล้านบาท ณ.สิ้นปี 2567 จากโครงการอาคารชุดพักอาศัยและบ้านพักอาศัย ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 2568-2569
โดยในปี 2567 บริษัทมีโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมส่งมอบทั้งสิ้น 6 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 7,500 ล้านบาท เป็นโครงการอาคารชุดพักอาศัย 2 โครงการ และโครงการบ้านพักอาศัย 4 โครงการได้แก่
โครงการอาคารชุดพักอาศัยมูลค่าโครงการรวมประมาณ 4,150 ล้านบาท
- ลุมพินี วิลล์ จรัญ-ไฟฉาย
- ลุมพินี เพลส แจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด สเตชั่น
โครงการบ้านพักอาศัยมูลค่าโครงการวมประมาณ 3,350 ล้านบาท ได้แก่
- เรสซิเดนซ์ 168 ราชพฤกษ์
- เฮ้าส์ 24 เวสต์เกต
- บ้านลุมพินี นิว นครปฐม
- วิลล่า 168 นิว กรุงเทพกรีฑา
บริหารจัดการต้นทุนและปรับลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
LPN จัดทำแผนปรับลดค่าใช้จ่าย ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกส่วนของการดำเนินงาน และยังเพิ่มรายได้ประจำ (Recurring Income) โดยการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ เช่น ห้องชุดที่พร้อมขายนำมาปรับเป็นห้องชุดเพื่อเช่า พร้อมจัดทำแผนเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ด้วยการบริหารจัดการให้มีประแสเงินสด ให้สามารถรองรับการดำเนินธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เร่งก่อสร้างโครงการที่มียอดซื้อเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จ และส่งมอบให้กับลูกค้าได้ตามเวลา
ในขณะเดียวกันในปี 2567 บริษัทชะลอแผนการลงทุนและการจัดซื้อที่ดิน ทำให้สัดส่วน หนี้ของบริษัทลดลง โดยในปี 2567 บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ลดลงจาก 1.08 ต่อ 1 ในปี 2566 เหลือ 0.88 ต่อ 1 เท่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 และและหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ลดลงจาก 1.22 ต่อ 1 ในปี 2566 เหลือ 1.03 ต่อ 1 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567
โดยที่บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับวินัยทางการเงิน รักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินตามนโยบายบริษัทไม่เกิน 1:1 รวมถึงความสมดุลในการลงทุน เพื่อการเติบโตในอนาคต
ดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบต่อสังคม
LPN มีแนวทางในการดูแลพนักงาน เพราะพนักงาน คือ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากนี้บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม ผ่านบริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่สร้างโอกาสในการทำงานให้กับสตรีและผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส ให้มีโอกาสในการทำงานโดยมีการจ้างงานสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสจำนวน 1,827 คน และมีเป้าหมายที่จะจ้างงานและสร้างโอกาสให้กับสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสไม่น้อยกว่า 2,000 คนในปี 2568
จากการปรับแผนธุรกิจและผลการดำเนินงานในปี 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติจ่ายเงินปันผลประจำปีงวดปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.05 บาทไปแล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ส่วนที่เหลือจะจ่ายในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 11 มีนาคม 2568 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record Date) ในวันที่ 13 มีนาคม 2568 และกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 9 พฤษภาคม 2568