คอนโดพร้อมอยู่
คอนโดราคาเบาๆ
คอนโดในเมือง
คอนโดเปิดขายใหม่
คอนโดแนวรถไฟฟ้า
Sport lover
คอนโดชายทะเล

สารจากประธานกรรมการ

เรียน ท่านผู้ถือหุ้นที่เคารพทุกท่าน

ปี 2566 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทอดเวลายาวนานมาตั้งแต่ปี 2565 ต่อเนื่องมาถึงความขัดแย้งทางการเมืองและสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ทำให้เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวจากภาวะถดถอย (Recession) ในปี 2565 ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในปี 2566 ตามรายงานของธนาคารโลก เติบโตที่ร้อยละ 2.6 ลดลงจากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผนวกกับการใช้จ่ายของภาครัฐชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลได้ล่าช้ากว่ากำหนดโดยจัดตั้งรัฐบาลได้ในเดือนกันยายน 2566 ภายหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 ทำให้การจัดทำงบประมาณ ประจำปี 2567 (ตุลาคม 2566 -กันยายน 2567) ล่าช้ากว่ากำหนดจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 เติบโตที่ร้อยละ 1.8 ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 3 - 3.5

ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2566 ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากหลายด้านทั้งจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เติบโตได้ต่ำกว่าที่คาด ส่งผลให้กำลังซื้อชะลอตัว ผนวกกับธนาคารแห่งประเทศไทยยกเลิกมาตรการผ่อนคลายอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือมาตรการผ่อนคลายเงินดาวน์ขั้นต่ำ (Loan to Value: LTV) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินร้อยละ 90 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Products : GDP) อัตราดอกเบี้ย ราคาที่ดิน และค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดและระมัดระวังในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อทั้งการพัฒนาโครงการ (Project Loan) และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(Mortgage Loan) ทำให้มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปี 2566 มีแนวโน้มทรงตัว โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศอยู่ที่ 1.07 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับปี 2565 ที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่ 1.06 ล้านล้านบาท

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว LPN มีการปรับกลยุทธ์ธุรกิจเตรียมความพร้อมเพื่อให้องค์กรสามารถเดินหน้าและได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยปรับปรุงกระบวนการทำงานภายใน ลดค่าใช้จ่ายลดขั้นตอน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อในทุกระดับภายใต้แนวคิด “น่าอยู่” (Livable Living) โดยพัฒนาโครงการใหม่ที่คำนึงถึงการออกแบบที่ให้มีความสะดวกสบาย และมีสุขภาวะอนามัยที่ดี (Smart & Well-being) ภายใต้แบรนด์ “168”

ปี 2566 เป็นปีที่พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพขององค์กรและความร่วมแรงร่วมใจของทีมงานทุกคนที่เป็นพลังขับเคลื่อนให้องค์กรสามารถก้าวข้ามผ่านความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ผมขอขอบคุณทุกความทุ่มเทของผู้บริหาร พนักงาน และพันธมิตรทางธุรกิจที่สนับสนุนการทำงานที่ผ่านมา รวมทั้งความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้น ทุกความสนับสนุนเป็นกำลังใจสำคัญที่ผลักดันให้ LPN ไม่หยุดที่จะพัฒนาสินค้าและบริการที่ดีที่สุด ภายใต้ปณิธานของการสร้าง “บ้าน” คุณภาพเพื่อส่งมอบความสุขที่แท้จริงของการอยู่อาศัยให้กับคนไทยทุกคน และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มต่อไป

อมรศักดิ์ นพรัมภา
ประธานกรรมการบริษัท

พิมพ์ชื่อโครงการหรือคำค้นหา...
ไทย English