ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2566 เป็นปีที่เผชิญกับแรงกดดันหลายด้านทั้งจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เติบโตได้ต่ำกว่าร้อยละ 3 โดยมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 1.8 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของธนาคาร แห่งประเทศไทย เป็นผลมาจากภาคการส่งออกชะลอตัว ภาคการท่องเที่ยวเติบโตไม่ได้ตามแผนที่ วางไว้ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องจากไม่สามารถเบิกจ่าย งบประมาณปี 2567 ได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลได้ล่าช้ากว่า ที่กำหนดไว้ (งบประมาณปี 2567 เริ่มต้น ตุลาคม 2566 - กันยายน 2567) เช่นเดียวกับการใช้จ่าย และการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัว ผนวกกับธนาคารแห่งประเทศไทยยกเลิกมาตรการผ่อนคลาย อัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือ มาตรการผ่อนคลายเงินดาวน์ขั้นต่ำ (Loan to Value: LTV) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะกำลังซื้อ ที่อยู่อาศัยที่ลดลงในปี 2566
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้ง บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ที่ต้องมีการ ปรับแผนธุรกิจและขับเคลื่อนองค์กรให้มีความยืดหยุ่น (Resilience) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
โดยในปี 2566 LPN ได้มีการบริหารจัดการโครงสร้างต้นทุน (Cost Management) เพื่อให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ที่ต้นทุนในการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นผลจากราคาที่ดิน และราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูง ขึ้นตามราคาพลังงาน และอัตราดอกเบี้ยที่ขยับตัวสูงขึ้นในปี 2566 ทั้งการบริหารต้นทุนทางการเงิน และการบริหารต้นทุนในการก่อสร้างเพื่อที่จะพัฒนาโครงการได้ในระดับราคาที่เหมาะสม สอดคล้อง กับกำลังซื้อที่มีอยู่ในตลาด และยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรให้กับบริษัทได้ตามแผนที่วางไว้
ในขณะเดียวกัน LPN ได้มีการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งสิ้น 11 โครงการ มูลค่า 11,725 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการอาคารชุดพักอาศัย 2 โครงการ มูลค่า 3,975 ล้านบาท ได้แก่ โครงการ พาร์ค 168 นพรัตน์ รามอินทรา และ เอิร์น บาย แอล.พี.เอ็น. ที่บริเวณนิคมอมตะ จังหวัดชลบุรี และโครงการบ้านพักอาศัย 9 โครงการ มูลค่า 7,750 ล้านบาท ได้แก่ โครงการบ้านพรีเมียม เมซอง 168 เมืองทอง เรสซิเดนซ์ 168 ราชพฤกษ์ วิลล่า 168 เวสต์เกต และโครงการบ้านเดี่ยวบ้านแฝด เฮ้าส์ 24 ราชพฤกษ์ เฮ้าส์ 24 คูคต สเตชั่น เฮ้าส์ 24 เวสต์เกต เฮ้าส์ 24 แก้วอินทร์ เฮ้าส์ 24 บางใหญ่ และสุดท้ายกับโครงการ ทาวน์โฮม เวนู 24 ประชาอุทิศ 90 เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อในตลาดที่มีแนวโน้มชะลอตัว ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว ผนวกกับการยกเลิกมาตรการ ผ่อนคลายอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือ มาตรการผ่อนคลายเงินดาวน์ขั้นต่ำ (Loan to Value: LTV) ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ที่กระทบโดยตรงต่อการตัดสินใจ ซื้อที่อยู่อาศัยรวมไปถึงการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่มีอัตราการอนุมัติสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศเฉลี่ยเพียงร้อยละ 30-40 ของมูลค่าสินเชื่อ ที่ยื่นขออนุมัติมาทั้งหมดในปี 2566
เป้าหมายยอดขายและรายได้
ในขณะเดียวกัน LPN ได้มีการปรับประมาณการยอดขายและรายได้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว โดยในปี 2566 LPN มียอดขายรวม 9,966 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายโครงการอาคารชุดพักอาศัย 8,115 ล้านบาท และโครงการบ้านพักอาศัย 1,851 ล้านบาท ทำให้ในปี 2566 มีรายได้รวม 7,444.48 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 27.7 จากปี 2565 ที่มีรายได้รวม 10,300.76 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2565 บริษัท มีรายได้พิเศษจากการขายอาคารสำนักงานมูลค่า 2,589.40 ล้านบาท โดยรายได้รวมในปี 2566 แบ่งเป็นรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่อยู่อาศัย 5,103.43 ล้านบาท และเป็นรายได้จากการบริหารจัดการโครงการ การเช่า และธุรกิจบริการ 2,303.64 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 364.42 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40.5 จากปี 2565 บริษัท มีโครงการที่ขายรอโอน (Backlog) รวมมูลค่า 2,339 ล้านบาท จากโครงการอาคารชุด พักอาศัยและบ้านพักอาศัย ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 2567-2569
โดยในปี 2566 บริษัทมีโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมส่งมอบ ทั้งสิ้น 9 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 9,930 ล้านบาท เป็นโครงการอาคารชุดพัก อาศัย 2 โครงการ และโครงการบ้านพักอาศัย 7 โครงการ ได้แก่
โครงการอาคารชุดพักอาศัย มูลค่าโครงการรวมประมาณ 4,270 ล้านบาท ได้แก่
- ลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง 1 เฟส 3 อาคาร เอฟ และ อาคาร จี
- ลุมพินี คอนโดทาวน์ เอกชัย 48
โครงการบ้านพักอาศัย มูลค่าโครงการวมประมาณ 5,660 ล้านบาท ได้แก่
- เมซอง 168 เมืองทอง
- วิลล่า 168 เวสต์เกต
- เวนู 24 ราชพฤกษ์
- เวนู 24 คูคตสเตชั่น
- เวนู 24 เวสต์เกต
- เฮ้าส์ 24 ราชพฤกษ์
- เฮ้าส์ 24 คูคตสเตชั่น
บริหารจัดการต้นทุนและปรับลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
LPN จัดทำแผนปรับลดค่าใช้จ่าย ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกส่วนของการดำเนินงาน เพิ่มรายได้ประจำ (Recurring Income) โดยการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ เช่น ห้องชุดที่พร้อมขายนำมาปรับเป็นห้องชุดเพื่อเช่า พร้อมกับจัดทำแผนเสริมสภาพคล่อง ทางการเงิน ด้วยการบริหารจัดการให้มีกระแสเงินสด ให้สามารถรองรับกับการดำเนินธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เร่งก่อสร้างโครงการที่มียอดซื้อเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จ และส่งมอบให้กับลูกค้าได้ตามเวลา
ในขณะเดียวกันในปี 2566 บริษัทได้มีการลงทุนซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในปี 2566-2569 มูลค่ารวม 1,743.96 ล้านบาท การลงทุนดังกล่าว ทำให้บริษัทมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นทำให้มีภาระหนี้รวมอยู่ที่ 14,624.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 จากปี 2565 จากการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 0.89 เท่า ในปี 2565 เป็น 1.06 เท่า ในปี 2566 และจาก 1.03 เท่า ในปี 2565 เป็น 1.22 เท่า ณ 31 ธันวาคม 2566 โดยที่บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับวินัยทางการเงิน รักษาระดับ อัตราส่วนหนี้สินตามนโยบายบริษัทที่ประมาณ 1:1 เท่า รวมถึงความสมดุลในการลงทุน เพื่อการเติบโตในอนาคต
ดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบต่อสังคม
LPN มีแนวทางในการดูแลพนักงาน เพราะพนักงานคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการจัดรูปแบบการทำงานให้มีความสมดุลภายใต้แนวคิด Work & Life Balance โดยให้พนักงานสามารถ ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) รวมไปถึงการทำงานจากภายนอก (Work from Anyplace) เพื่อสร้างสมดุลในการทำงานและการใช้ชีวิต รวมทั้งยังคงมาตรการดูแลการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ภายในองค์กร รวมทั้งดูแลเจ้าของร่วมในชุมชน ที่บริษัทรับบริหารโครงการ ด้วยการวางมาตรการต่างๆ ที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม ผ่านบริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่สร้างโอกาส ในการทำงานให้กับสตรีและผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส ให้มีโอกาสในการทำงานโดยมีการจ้างงานสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสจำนวน 1,680 คน และมีเป้าหมายที่จะจ้างงานและสร้างโอกาสให้กับสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสไม่น้อยกว่า 2,000 คนในปี 2568
จากการปรับแผนธุรกิจและผลการดำเนินงานในปี 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติ จ่ายเงินปันผลประจำปีงวดปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.13 บาท ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.08 บาทไปแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ส่วนที่เหลือจะจ่ายในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิ์ปันผล (XD) ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 และกำหนด รายชื่อผู้มีสิทธิ์ได้รับปันผล (Record Date) ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 และกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 17 เมษายน 2567
โดยการให้สิทธิดังกล่าวต้องรอการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567